Last updated: 17 ส.ค. 2564 | 519 จำนวนผู้เข้าชม |
ส่องตลาดส่งออก 'ทางเลือกไทย' ยุคโควิด
เว็บไซต์ Trading Economics รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ปี 2563 ได้ฉุดรั้งเศรษฐกิจโลกและไทยว่า ปีนี้มีแนวโน้มหดตัวสูงสุดในรอบหลายทศวรรษ ซึ่งในเดือน มิ.ย.2563 การส่งออกของไทยลดลง 23.17% เมื่อเทียบเป็นรายปี หรืออยู่ที่ 1.64 หมื่นล้านดอลลาร์ เพราะได้รับผลกระทบรุนแรงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แม้ปีนี้การส่งออกอาจจะลดลงไม่มาก แต่อาจใช้เวลาฟื้นตัวนานในอนาคต
ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) ชี้ว่า แม้ล่าสุดสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยจะสามารถควบคุมได้ แต่สถานการณ์ในหลายประเทศทั่วโลกยังวิกฤติ จากจำนวนผู้ป่วยใหม่รายวันที่ทำสถิติสูงสุดส่งผลให้ อุปสงค์จากต่างประเทศที่เคยเป็นเส้นเลือดใหญ่ในการหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในภาวะอ่อนแรงลงต่อเนื่อง สะท้อนได้จากมูลค่าส่งออกล่าสุดในเดือน พ.ค.2563 ที่หดตัวถึง 22.5% ต่ำสุดในรอบกว่า 10 ปี ผลักดันให้การส่งออก 5 เดือนแรกปี 2563 หดตัว 3.7% ยกเว้นตลาดจีนที่ยังพอขยายตัวได้
แม้แนวโน้มสถานการณ์การส่งออกของไทยไปต่างประเทศในช่วงครึ่งปีหลังยังต้องดูปัจจัยเสี่ยงต่อเนื่องจากการส่งออกเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา แต่สถิติที่ออกมาค่อนข้างชัดเจนถึงผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ของหลายประเทศ ทำให้รัฐบาลไทยจะต้องริเริ่มโครงการใหม่ๆ หรือทบทวนแผนเศรษฐกิจกับประเทศอื่นๆ หวังกระจายความเสี่ยงออกจากจีน และประกันการเข้าถึงตลาดหลักในโลก ควบคู่กับการช่วยธุรกิจไทยรับมือกับการเปลี่ยนแปลง และกระจายโอกาสทางเศรษฐกิจอย่างเป็นธรรม
ตลาดอาเซียน ถือเป็นนักลงทุนและเป็นตลาดเบอร์หนึ่งของไทย มีสัดส่วนสูงถึง 25% นับตั้งแต่เดือน ก.พ. ประเทศในอาเซียนได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในระดับที่แตกต่างกัน แต่พบว่าการส่งออกของไทยไปอาเซียนในไตรมาสแรกของปี 2563 (ม.ค.-มี.ค.) ยังคงขยายตัวถึง 4.35% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 มีมูลค่ารวม 16,280 ล้านดอลลาร์
ตลาดญี่ปุ่น ในช่วงแพร่ระบาดโควิดหดตัวถึง 11.1% สูงสุดเมื่อเทียบตลาดที่มีผู้ติดเชื้ออันดับต้นๆ ของโลก โดยสินค้าที่กดดันการส่งออกไทยไปญี่ปุ่นในเดือน ก.พ. ยังเป็นสินค้าอุตสาหกรรมเป็นหลัก อาทิ รถยนต์ เครื่องจักร คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ซึ่งได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจญี่ปุ่นโดยรวมที่ชะลอลงมาตั้งแต่ช่วงก่อนเกิดโควิด-19 อย่างไรก็ตาม สินค้าอาหารซึ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิตยังขยายตัวได้ โดยเฉพาะไก่แปรรูป ซึ่งเป็นสินค้าเกษตรอันดับ 1 ของไทยไปญี่ปุ่น
ตลาดเกาหลีใต้ หดตัวเพียง 1.5% สวนทางกับยอดผู้ติดเชื้อของเกาหลีใต้ในเดือน ก.พ. ที่เร่งตัวขึ้นเร็วที่สุดในโลก แต่เนื่องจากเกาหลีใต้มีมาตรการเด็ดขาดและมีประสิทธิภาพทำให้สามารถควบคุมสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว โดยสินค้าที่ช่วยประคองให้ตลาดเกาหลีใต้ไม่หดตัวมาก ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องปรับอากาศ กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ
ตลาดสหภาพยุโรป (อียู) เป็นตลาดที่น่ากังวลในช่วงครึ่งปีหลัง ที่มีปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 อยู่ และคาดในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ติดลบไปถึง 16.3% แต่หลังจากคลายล็อกดาวน์ ตลาดอียูจะขยายตัว 1.2% โดยเฉพาะตลาดอิตาลี เพิ่มขึ้น 2.9% และเยอรมนีเพิ่มขึ้น 1.4% พบว่า สองประเทศนี้มีจำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตเร่งตัวขึ้นมากยังขยายตัวได้เล็กน้อย จากประเภทสินค้าเครื่องปรับอากาศและเครื่องยนต์สันดาปที่ขยายตัวสูง ในภาพรวมการส่งออกของไทยไปตลาดอียูยังขยายตัว ในช่วงก่อนยังไม่เกิดการแพร่ระบาดในวงกว้างในยุโรป ขณะที่ตลาดสเปนหดตัว 3.3% จากการส่งออกเครื่องปรับอากาศและรถจักรยานยนต์ เป็นหลัก
ตลาดอิหร่าน ขยายตัวถึง 25.9% จากการส่งออกยางพารา รถยนต์ ผลไม้กระป๋องที่ยังขยายตัวได้สูง เช่นเดียวกับตลาดตะวันออกกลางโดยรวมก็ยังขยายตัวได้ถึง 16.4% โดยตัวเลขการส่งออกไปภูมิภาคดังกล่าวที่ยังขยายตัวสูงอาจยังไม่ได้สะท้อนผลกระทบจากโควิด-19 มากนัก เนื่องจากตัวเลขผู้ติดเชื้อในตะวันออกกลางเริ่มเร่งตัวขึ้นในช่วงปลายเดือน ก.พ. ทำให้อาจต้องพิจารณาตัวเลขการส่งออกหลังจากนั้น โดยเฉพาะในตลาดส่งออกหลักในภูมิภาคทั้งซาอุดีอาระเบีย กาตาร์ อิสราเอล เป็นต้น ที่มียอดผู้ติดเชื้อเร่งขึ้นสูง
ที่มา : bangkokbiznews.com/news/detail/891121